มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง ซึ่งมันเกิดจากต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม มีโอกาสมากที่จะพบการเกิดมะเร็งในเต้านมทั้งสองข้าง ทั้งในระยะแรกและหลังจากการตรวจวินิจฉัย อย่างไรก็ดีการตรวจพบมะเร็งในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูงเพราะฉะนั้นการตรวจมะเร็งเต้านมเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องทำ
อาการมะเร็งเต้านม
บางครั้งผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมอาจไม่มีอาการของมะเร็งเต้านม หรือบางครั้งอาการผิดปกติที่เป็นอาจไม่ใช่โรคมะเร็งก็ได้ ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
- มีก้อนหนาๆ ในเต้านมหรือใต้แขน
- บริเวณหัวนมบุ๋ม มีน้ำเหลือง หรือมีแผล
- เต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม
- มีอาการปวดบริเวณเต้านม
การตรวจประเมินมะเร็งเต้านมเบื้องต้น
การตรวจประเมินเบื้องต้นเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะต้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จสูง โดยการตรวจประเมินมะเร็งเต้านมเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้
1.การคลำเต้านมด้วยตนเอง
2.การตรวจแบบแมมโมแกรม ตรวจเพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะแรกๆ ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งเมื่อมีอาการและยังไม่มีอาการผิดปกติ ควรตรวจเป็นประจำทุกปี
3.ตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ และตรวจด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ผลของแมมโมแกรมตรวจเจอความผิดปกติ
วิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง
1.วิธีที่ 1 ส่องกระจกเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเต้านม
- ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัวตามสบาย สังเกตเปรียบเทียบขนาดเต้านมทั้งสองข้างว่ามีการบิดเบี้ยวของหัวนม หรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
- สำรวจหาความผิดปรกติในท่าประสานมือเหนือศีรษะและท่าเท้าเอว
- โน้มตัวไปข้างหน้าโดยวางมือทั้ง 2 ข้างบนเข่าหรือเก้าอี้ แล้วสังเกตความปกติ
2.ท่านอนราบ
- นอนราบในท่าที่สบาย
- ยกแขนข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมแผ่ราบ โดยเฉพาะบริเวณส่วนบนด้านนอกซึ่งมีเนื้อหนาที่สุด
- ใช้นิ้วมืออีกข้างหนึ่ง คลำให้ทั่วเต้านมและรักแร้ โดยห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะรู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่
- เมื่อตรวจเสร็จข้างหนึ่งแล้วให้ย้ายมาตรวจอีกข้างหนึ่งด้วยวิธีเดียวกัน
3.ขณะอาบน้ำ
- ผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก ให้ยกแขนข้างที่จะตรวจไว้เหนือศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งคลำแบบเดียวกับท่านอนราบ
- ผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ให้ใช้มือข้างที่จะตรวจประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งตรวจคลำจากด้านบน
การรักษามะเร็งเต้านม
-
การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีผ่าตัด (Surgery)
การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด จัดว่าเป็นการรักษาหลักของการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม โดยก่อนอื่นต้องทราบความรู้พื้นฐานก่อนว่า เมื่อมีก้อนมะเร็งเต้านมเกิดขึ้น อวัยวะแรกที่เซลส์มะเร็งเต้านมจะกระจายลุกลามไปถึงคือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ดังนั้นการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมจึงต้องผ่าตัดทั้งบริเวณเต้านมและเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกไปด้วย ในปัจจุบันการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมวิธีมาตรฐาน ได้แก่ การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้าและเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด
-
การรักษาหลังการผ่าตัด (Adjuvant therapy)
เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมโดยกำจัดเซลส์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่บริเวณเต้านมและทั่วร่างกาย ซึ่งจะให้การรักษาแต่ละชนิดเมื่อมีข้อบ่งชี้ในการรักษาเท่านั้น การรักษาที่ว่าประกอบด้วย
- การใช้เคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy)
- รักษาโดยการใช้วิธีฉายแสง (Radiation)
- รักษาโดยการใช้ยาต้านฮอร์โมน (Endocrine or Hormonal therapy)
- รักษาโดยใช้ยาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งยับยั้งการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโต และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
ในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษามะเร็งเต้านมควรปรึกษาและพิจารณาทุกข้อแนะนำจากแพทย์ให้ละเอียด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการ และสภาพร่างกายของผู้ป่วยเอง การรักษาบางรูปแบบอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นควรที่จะต้องทราบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับวิธีการรักษาให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถรับมือได้กับทุกสถานการณ์