มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากในผู้หญิง ดังนั้นผู้หญิงทุกๆ คนต้องหมั่นตรวจเช็คเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำเพื่อที่จะทราบตั้งแต่เนิ่นๆ ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ หรือถ้าจะให้ดีควรไปตรวจมะเร็งเต้านมที่โรงบาล เมื่อถึงวัยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูง เพราะการตรวจพบมะเร็งเต้านมได้เร็วในระยะเริ่มต้น จะช่วยให้ไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น และมีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้สูง

อาการเบื้องต้นของมะเร็งเต้านม

อาการเบื้องต้นที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมอาจไม่ชัดเจนในระยะแรก และบางครั้งอาจไม่แสดงอาการเลย อย่างไรก็ตาม อาการบางอย่างที่พบได้บ่อยและควรระมัดระวังมีดังนี้

  1. การมีก้อนเนื้อหรือก้อนแข็งในเต้านมหรือรักแร้
  • มักจะเป็นก้อนแข็ง ขอบไม่เรียบ และเคลื่อนไหวได้น้อยหรือไม่เคลื่อนไหวเมื่อคลำ
  • ก้อนเนื้อนี้อาจไม่เจ็บปวดหรืออาจมีอาการเจ็บปวดเล็กน้อย
  1. การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่เต้านม
  • ผิวหนังที่เต้านมเกิดการหนาแข็งเป็นพิเศษหรือยุบลงเหมือนเปลือกส้ม
  • ผิวหนังแดง อักเสบ หรืออาจมีอาการบวม ร้อน
  1. การเปลี่ยนแปลงของหัวนม
  •  หัวนมบิดเบี้ยว ยุบตัว หรือถูกดึงเข้าไปข้างใน (Inverted nipple) ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • หัวนมมีผื่นคล้ายสะเก็ดหรือเป็นแผลบริเวณหัวนมหรือปานนม
  • มีของเหลวผิดปกติไหลออกจากหัวนม เช่น เลือด หรือน้ำสีเหลืองใส ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในช่วงให้นมบุตร
  1. อาการปวดเต้านม
  • อาการปวดเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน หรือไม่หายไปหลังจากหมดประจำเดือน
  1. การเปลี่ยนแปลงรูปร่างและขนาดของเต้านม
  • ขนาดของเต้านมทั้งสองข้างเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน หรือมีการยกตัวของเต้านมในลักษณะที่ผิดปกติ
  • เต้านมบวมมากหรือเต้านมข้างหนึ่งมีลักษณะบวมเกินไปเมื่อเทียบกับอีกข้าง
  1. การเปลี่ยนแปลงของต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้บวม โตขึ้น หรือมีลักษณะผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง
  1. อาการอื่น ๆ ที่ไม่เฉพาะเจาะจง
  • มีอาการเหนื่อยล้า น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ที่รู้สึกได้

หากพบอาการข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับคำแนะนำในการตรวจคัดกรองเพิ่มเติม เช่น แมมโมแกรม หรืออัลตราซาวด์ทันที ทั้งนี้การตรวจสุขภาพและคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้สูง หากตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นค่ะ

วิธีในการตรวจหามะเร็งเต้านม

ตรวจมะเร็งด้วยตนเอง มี 3 ท่าง่ายๆ ดังนี้

1.ท่ายืนหน้ากระจก

  • ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัวตามสบาย สังเกตเปรียบเทียบขนาดเต้านมทั้งสองข้างว่ามีการบิดเบี้ยวของหัวนม หรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
  • สำรวจหาความผิดปรกติในท่าประสานมือเหนือศีรษะและท่าเท้าเอว
  • โน้มตัวไปข้างหน้าโดยวางมือทั้ง 2 ข้างบนเข่าหรือเก้าอี้ แล้วสังเกตความปกติ

2.ท่านอนราบ

  • นอนราบในท่าที่สบายยกแขนข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมแผ่ราบ โดยเฉพาะบริเวณส่วนบนด้านนอกซึ่งมีเนื้อหนาที่สุด
  • ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมืออีกข้างหนึ่ง คลำให้ทั่วเต้านมและรักแร้ โดยห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะรู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่
  • เมื่อตรวจเสร็จข้างหนึ่งแล้วให้ย้ายมาตรวจอีกข้างหนึ่งด้วยวิธีเดียวกัน

3.ขณะอาบน้ำ

  • ผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก ให้ยกแขนข้างที่จะตรวจไว้เหนือศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งคลำแบบเดียวกับท่านอนราบ
  • ผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ให้ใช้มือข้างที่จะตรวจประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งตรวจคลำจากด้านบน

การตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram)

การตรวจแมมโมแกรม  เป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษคล้ายการตรวจเอกซเรย์ มีประสิทธิภาพในการตรวจมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้การรักษาได้ผลดีและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงจากการเป็นมะเร็งเต้านม การตรวจแมมโมแกรมเป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดในปัจจุบัน สามารถตรวจพบหินปูนที่มีลักษณะผิดปกติในเต้านม หรือรอยโรคที่มีขนาดเล็กได้ ใช้เวลาตรวจเพียง 30 นาที และไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนเข้ารับการตรวจอีกด้วย

ตรวจเจาะชิ้นเนื้อ

ทันทีที่ตรวจพบความผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านม ศัลยแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งทำได้ 2 วิธีคือ การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อหรือการผ่าตัดเพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ รังสีแพทย์จะพิจารณาว่าควรใช้เครื่องมือสำหรับการระบุตำแหน่งที่ผิดปกติเป็นเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือสเตอริโอแทคติก แมมโมแกรม (Stereotactic Mammogram) เพื่อทำให้การเจาะชิ้นเนื้อได้ตำแหน่งที่ถูกต้องแม่นยำ

บทสรุป

ผู้หญิงที่ควรเริ่มเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม คือช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเฝ้าระวังโรคมะเร็งเต้านม ด้วยการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรมร่วมกับการทำอัลตร้าซาวด์เต้านมปีละครั้ง หรือหากอายุยังไม่ถึง 40 ปี แต่พบว่าตนเองมีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วหลายปัจจัย อาจจะเริ่มตรวจตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ ได้เลยค่ะ โดยเริ่มด้วยการปรึกษาแพทย์ และไม่ว่าใครก็ตามหากคลำพบหรือพบความผิดปกติของเต้านมตามที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียดอีกที หากเจอในระยะเริ่มต้นก็ให้รีบรักษาทันที เจอเร็ว รักษาเร็ว โอกาสหายก็สูงค่ะ

Related Posts