ในช่วงที่ผ่านมา คนไทยเริ่มมีแนวโน้มการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบว่าอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น เพราะด้วยความที่ผู้คนส่วนใหญ่มีการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นิยมทานอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง ออกกำลังกายน้อยลง และมีความเครียดมากขึ้น นอกจากนี้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบยังเป็นโรคที่ถ่ายทอดกันได้ทางกรรมพันธุ์อีกด้วย โดยอาการเบื้องต้นของโรคนี้คือ เจ็บหน้าอก,หายใจลำบาก,เหนื่อยง่าย และวิงเวียนศีรษะ เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้เป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ
สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบและการเสื่อมสภาพ โดยมีปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน การสูบบุหรี่ และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เพศ อายุ พันธุกรรมในครอบครัว ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดโรค เมื่อโรคมีอาการมากขึ้นจนเส้นเลือดตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยง่าย โดยที่อาการมักจะเป็นขณะใช้พลังงานเยอะๆ เช่น การออกกำลังกาย เมื่อเส้นเลือดตีบมากหรือมีการตัน จะเกิดภาวะหัวใจบีบตัวอ่อนแรง ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตกว่าคนที่ไม่เป็นโรค นอกจากนั้นยังเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (heart attack or acute coronary syndrome) ซึ่งจะมีอาการแน่นหน้าอกรุนแรง น้ำท่วมปอด ภาวะช็อคจากการบีบเลือดไม่ดี (cardiogenic shock/pump failure) หัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง เสียชีวิตเฉียบพลันได้
แนวทางในการรักษาและป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
แนวทางการรักษา
โดยปกติคนส่วนใหญ่จะพบความผิดปกติของตนเองก็ต่อเมื่อไปตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะกับคนที่ยังไม่มีอาการมาก่อนหากพบถือว่าโชคดีมาก เพราะจะได้รับการรักษาตั้งแต่ช่วงที่อาการยังไม่รุนแรง แต่บางคนที่ไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปี อาจเจอโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในตอนที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือจากภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งมีสาเหตุจากไขมัน และหินปูนเกาะสะสมตามทางเดินหลอดเลือดจนตีบหรืออุดตัน ทั้งสองกรณีแพทย์มักจะรักษาทางยาก่อนเป็นอันดับแรก หากอาการรุนแรงกว่านั้นหรือไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาใช้วิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน แต่หากไม่สามารถใช้วิธีการรักษาทั้งทางยาและบอลลูนขยายหลอดเลือดได้ แพทย์อาจจะพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ
- วิธีการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Balloon angioplasty) วิธีนี้จะทำในบริเวณที่มีการตีบตันเพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอีกครั้ง โดยแพทย์จะใส่หลอดที่มีลักษณะยาว ขนาดเล็ก และปลายข้างหนึ่งมีบอลลูน ซึ่งยังไม่พองตัวเข้าไปในเส้นเลือดจนถึงตำแหน่งที่เกิดการตีบหรืออุดตันจึงถูกทำให้พองตัวและขยายหลอดเลือดบริเวณที่ตีบ แล้วจึงนำบอลลูนออก ในปัจจุบันแพทย์ยังนิยมใส่ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดซึ่งมีลักษณะเป็นตาข่ายโลหะในจุดที่ขยายหลอดเลือดเพื่อป้องกันการกลับมาตีบซ้ำ (Vascular recoil)
- การรักษาโรคหัวใจด้วยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting) หรือที่เรียกกันว่า “การผ่าตัดบายพาส” ใช้หลักการเดียวกับการตัดถนนใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่หนาแน่น ซึ่งก็คือหลอดเลือดที่มีปัญหาตีบตัน การผ่าตัดบายพาสจะนำหลอดเลือดดำที่ขา หลอดเลือดแดงที่ผนังหน้าอกหรือหลอดเลือดแดงที่แขนมาตัดต่อคร่อมหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตัน เพื่อทำทางเดินเลือดใหม่โดยไม่ต้องผ่านหลอดเลือดที่อุดตัน การทำบายพาสสามารถทำได้มากกว่า 1 จุด ในเส้นเลือดเดียวกัน
การป้องกัน
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อติดตามระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต
- การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รวมถึงการรับประทานอาหารที่สมดุล, การออกกำลังกาย, การลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักเกิน, และการเลิกสูบบุหรี่
- การจัดการความเครียด หาวิธีการจัดการความเครียดที่เหมาะสม เช่น การทำสมาธิ, การออกกำลังกาย, หรือการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ
บทสรุป
การตระหนักถึงสัญญาณเตือนถึงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ทุกปัญหาล้วนมีทางแก้ หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว ควรศึกษาทำความเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และแนวทางการรักษาก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ ทั้งนี้ในการรักษาในปัจจุบันมีวิวัฒนาการไปไกล ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตเยอะกว่าแต่ก่อน แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันโรคตั้งแต่ที่โรคยังไม่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะทำ เพราะมันจะได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีๆ อย่างการหมั่นไปตรวจสุขภาพประจำปี และบริโภคแต่อาหารที่ดีมีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันจากสัตว์ ไขมันอิ่มตัวและไขมันไม่อิ่มตัวชนิดทรานส์ และพวกน้ำหวานที่มีน้ำตาลเยอะกันด้วยนะคะ